วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ประวัติบาสเกตบอล



 ตั้งแต่ที่คิดค้นขึ้นในปี พ.ศ. 2434 (ค.ศ. 1891) โดยเจมส์ ไนสมิท บาสเกตบอลได้ถูกพัฒนาขึ้นเป็นกีฬาสากล กีฬานี้มีจุดเริ่มต้นจากในวายเอ็มซีเอ ลีกที่เกิดขึ้นในสมัยแรก ๆ เป็นระดับมหาวิทยาลัย ต่อมากลายเป็นกีฬาอาชีพ มีการจัดตั้งลีกเอ็นบีเอ (National Basketball Association, NBA) และเริ่มมีการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกเมื่อ พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) ถึงแม้ว่าในระยะแรกยังเป็นกีฬาที่เล่นเฉพาะในสหรัฐอเมริกา กีฬาชนิดนี้แพร่ขยายไปสู่ระดับสากลด้วยความรวดเร็ว ปัจจุบันมีนักกีฬาและทีมที่มีชื่อเสียงตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก

ภาพ: James_naismith.jpg

Dr. James Naismith


        บาสเกตบอลเป็นกีฬาที่เล่นในร่มเป็นหลัก สนามที่ใช้เล่นมีขนาดค่อนข้างเล็ก คะแนนจะได้จากการโยนลูกเข้าห่วงจากด้านบน (เรียกว่า ชู้ต, shoot) ทีมที่มีคะแนนมากกว่าในตอนจบเกมจะเป็นฝ่ายชนะ สามารถนำพาลูกโดยการกระเด้งกับพื้น (เลี้ยงลูก, dribble) หรือส่งลูกกันระหว่างเพื่อนร่วมทีม เกมจะห้ามการกระทบกระแทกที่ทำให้เป็นฝ่ายได้เปรียบ (ฟาล์ว, foul) และมีกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการครองบอล
        เกมบาสเกตบอลมีการพัฒนาเทคนิคการเล่นต่าง ๆ เช่น การชู้ต การส่ง และ การเลี้ยงลูก รวมไปถึงตำแหน่งผู้เล่น (ซึ่งตามกฎแล้วไม่จำเป็นต้องมี) และตำแหน่งการยืนในเกมรุกและเกมรับ ผู้เล่นที่ตัวสูงถือเป็นข้อได้เปรียบ ถึงแม้ว่าในการเล่นแข่งขันจะควบคุมโดยกฎกติกา การเล่นรูปแบบอื่น ๆ สำหรับเล่นผ่อนคลายก็มีการคิดขึ้น บาสเกตบอลยังเป็นกีฬาที่คนนิยมดูอีกด้วย

 ยุคแรกของบาสเกตบอล

        ความพิเศษอย่างหนึ่งของบาสเกตบอล คือถูกคิดขึ้นโดยคนเพียงคนเดียว ต่างจากกีฬาส่วนใหญ่ที่วิวัฒนาการมาจากกีฬาอีกชนิด ช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2434 ดร. เจมส์ ไนสมิท นายแพทย์ชาวอเมริกันที่เกิดในแคนาดา และเป็นผู้ดูแลสถานที่ของวิทยาลัยแห่งหนึ่งของสมาคมวายเอ็มซีเอ (ปัจจุบันคือ วิทยาลัยสปริงฟิลด์, Springfield College) ในเมืองสปริงฟิลด์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ค้นหาเกมในร่มที่ช่วยให้คนมีกิจกรรมทำระหว่างฤดูหนาวในแถบนิวอิงแลนด์ ว่ากันว่า หลังจากเขาไตร่ตรองหากิจกรรมที่ไม่รุนแรงเกินไปและเหมาะสมกับโรงยิม เขาเขียนกฎพื้นฐานและตอกตะปูติดตะกร้าใส่ลูกท้อเข้ากับผนังโรงยิม เกมแรกที่เล่นเป็นทางการเล่นในโรงยิมวายเอ็มซีเอในเดือนถัดมา คือเมื่อ 20 มกราคม พ.ศ. 2434 (ค.ศ. 1892) ในสมัยนั้น เล่นโดยใช้ผู้เล่นเก้าคน สนามที่ใช้ก็มีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของสนามเอ็นบีเอในปัจจุบัน ชื่อ บาสเกตบอล เป็นชื่อที่เสนอโดยนักเรียนคนหนึ่ง และก็เป็นชื่อที่นิยมมาตั้งแต่ตอนต้น เกมแพร่ขยายไปยังวายเอ็มซีเอที่อื่นทั่วสหรัฐอเมริกา ไม่นานนักก็มีเล่นกันทั่วประเทศ
ภาพ:Firstbasketball.jpg

สนามบาสเกตบอลแห่งแรก ที่วิทยาลัยสปริงฟิลด์


        แต่ที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าวายเอ็มซีเอจะเป็นผู้ที่พัฒนาและเผยแพร่เกมในตอนแรก ภายในหนึ่งทศวรรษสมาคมก็ไม่สนับสนุนกีฬานี้อีก เนื่องจากการเล่นที่รุนแรงและผู้ชมที่ไม่สุภาพ สมาคมกีฬาสมัครเล่นอื่น ๆ มหาวิทยาลัย และทีมอาชีพก็เข้ามาแทนที่ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 สหภาพการกีฬาสมัครเล่น (Amateur Athletic Union) และ สมาคมการแข่งขันกีฬาระหว่างวิทยาลัย (Intercollegiate Athletic Association) (ซึ่งปัจจุบันคือเอ็นซีดับเบิลเอ, NCAA) ได้แข่งกันเพื่อจะเป็นผู้กำหนดกติกาของเกม
        เดิมนั้นการเล่นบาสเกตบอลจะลูกฟุตบอล ลูกบอลที่ทำขึ้นสำหรับบาสเกตบอลโดยเฉพาะในตอนแรกมีสีน้ำตาล ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 จึงเปลี่ยนมาใช้ลูกสีส้มเพื่อให้ผู้เล่นและผู้ชมมองเห็นลูกได้ง่ายขึ้น และก็ใช้ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่ริเริ่มใช้ลูกบาสเกตบอลสีส้มคือนาย โทนี ฮิงเคิล (Tony Hinkle) โค้ชมหาวิทยาลัยบัตเลอร์ (Butler University)


 ระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา และลีกอื่น ๆ

        ไนสมิทเป็นตัวตั้งตัวตีในการเริ่มบาสเกตบอลระดับมหาวิทยาลัย โดยเป็นโค้ชให้กับมหาวิทยาลัยแคนซัส (University of Kansas) เป็นเวลาหกปี ลีกระดับมหาวิทยาลัยถือกำเนิดในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 และเริ่มทัวร์นาเมนต์ที่ชื่อเอ็นไอที (National Invitation Tournament, NIT) ในนิวยอร์กเมื่อปี พ.ศ. 2481 (ค.ศ. 1938) ช่วง พ.ศ. 2491 ถึง 2494 บาสเกตบอลระดับมหาวิทยาลัยประสบปัญหานักกีฬาโดนซื้อเพื่อผลทางการพนัน เนื่องจากกลุ่มคนที่โกงนี้เกี่ยวข้องกับเอ็นไอที ทำให้อีกทัวร์นาเมนต์ซึ่งเป็นของเอ็นซีเอเอ (NCAA) ขึ้นแซงเอ็นไอทีในแง่ความสำคัญ ปัจจุบันทัวร์นาเมนต์เอ็นซีดับเบิลเอ หรือที่นิยมเรียกกันว่า มาร์ชแมดเนส (March Madness ซึ่งแข่งในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี) ถือเป็นรายการแข่งขันระดับต้น ๆ ในสหรัฐเป็นรองแค่เพียงซูเปอร์โบลของกีฬาอเมริกันฟุตบอล และ เวิลด์ซีรีส์ของกีฬาเบสบอลเท่านั้น
ภาพ:Basketball.jpg

การแข่งขันระดับมหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2520


        ในคริสต์ทศวรรษ 1920 มีทีมบาสเกตบอลอาชีพเกิดขึ้นเป็นร้อยทีมตามเมืองต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา ไม่มีการจัดระบบเกมอาชีพ เช่น นักกีฬาย้ายทีมไปมา ทีมแข่งกันในโรงเก็บอาวุธและโรงเต้นรำ มีลีกเกิดใหม่และล้มไป บางทีมเล่นถึงสองร้อยเกมในปีหนึ่งก็มี
        ส่วนระดับไฮสกูล (มัธยมปลาย) ของสหรัฐก็เป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน ปัจจุบันเกือบทุกโรงเรียนจะมีทีมบาสเกตบอลประจำโรงเรียน ในฤดูกาล ทั่วทั้งสหรัฐมีนักเรียนชายหญิงรวมกันถึง 1,002,797 คนเล่นเป็นตัวแทนในการแข่งขันระหว่างโรงเรียน มลรัฐอินดีแอนาและเคนทักกีเป็นสองมลรัฐที่คนให้ความสนใจบาสเกตบอลระดับไฮสกูลมากเป็นพิเศษ

เอ็นบีเอ

ภาพ:NationalBasketballAssociation.png

        ในปี พ.ศ. 2489 ถือกำเนิดลีกเอ็นบีเอ (National Basketball Association, NBA) ก่อตั้งโดยรวบรวมทีมอาชีพชั้นนำ และทำให้กีฬาบาสเกตบอลระดับอาชีพได้รับความนิยมสูงขึ้น ปี พ.ศ. 2510 มีการจัดตั้งลีกเอบีเอ (American Basketball Association, ABA) ขึ้นอีกลีกมาเป็นคู่แข่งอยู่พักหนึ่ง ลีกทั้งสองก็ควบรวมกันในปี พ.ศ. 2519
        ในเอ็นบีเอมีผู้เล่นมีชื่อเสียงหลายคน เช่น จอร์จ มิคาน (George Mikan) ผู้เล่นร่างใหญ่ที่โดดเด่นคนแรก บอบ คอสี (Bob Cousy) ผู้มีทักษะการครองบอล บิล รัสเซล (Bill Russell) ผู้ที่เก่งด้านการตั้งรับ วิลท์ แชมเบอร์เลน (Wilt Chamberlain) รวมถึง ออสการ์ รอเบิร์ตสัน (Oscar Robertson) และ เจอร์รี เวสต์ (Jerry West) ผู้ที่เก่งในรอบด้าน คารีม อับดุล-จับบาร์ (Kareem Abdul-Jabbar) และบิล วอลตัน (Bill Walton) ผู้เล่นร่างยักษ์ในยุคหลัง จอห์น สต็อกตัน (John Stockton) ผู้ที่มีทักษะการคุมเกม ตลอดจนผู้เล่นสามคนที่ทำให้เอ็นบีเอได้รับความนิยมจนถึงขีดสุด คือ แลร์รี เบิร์ด (Larry Bird) แมจิก จอห์นสัน (Magic Johnson) และ ไมเคิล จอร์แดน(Michael Jordan)
        ลีกดับเบิ้ลยูเอ็นบีเอ (Women's National Basketball Association, WNBA) สำหรับบาสเกตบอลหญิงเริ่มเล่นในปี พ.ศ. 2540 ถึงแม้ว่าในฤดูกาลแรกจะไม่ค่อยมั่นคงนัก นักกีฬามีชื่อหลายคน เช่น เชอริล สวูปส์ (Sheryl Swoopes), ลิซา เลสลี (Lisa Leslie) และ ซู เบิร์ด (Sue Bird) ช่วยเพิ่มความนิยมและระดับการแข่งขันของลีก ลีกบาสเกตบอลหญิงอื่น ๆ ล้มไปเนื่องจากความสำเร็จของดับเบิ้ลยูเอ็นบีเอ


 บาสเกตบอลระดับสากล

        สหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ (International Basketball Federation) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีสมาชิกก่อตั้งแปดชาติ ได้แก่ อาร์เจนตินา เชคโกสโลวาเกีย กรีซ อิตาลี ลัตเวีย โปรตุเกส โรมาเนีย และสวิตเซอร์แลนด์ ในสมัยนั้นหน่วยงานดูแลเฉพาะนักกีฬาสมัครเล่น ดังนั้นในชื่อย่อจากภาษาฝรั่งเศสของสหพันธ์ หรือ ฟีบา' (FIBA) ตัวอักษร '"A" ย่อมาจากคำว่า "amateur" ซึ่งแปลว่าสมัครเล่น
        บาสเกตบอลถูกบรรจุในกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2479 ถึงแม้ว่าเคยจัดการแข่งขันเป็นกีฬาสาธิตก่อนหน้านั้นนานมากเมื่อ พ.ศ. 2447 สหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศที่เก่งกีฬานี้ และทีมชาติสหรัฐพลาดเหรียญทองเพียงสามครั้งเท่านั้น โดยครั้งแรกที่พลาดแข่งที่มิวนิกในปี พ.ศ. 2515 โดยแพ้ให้กับทีมสหภาพโซเวียต การแข่งขันเวิลด์แชมเปียนชิปส์ (World Championships) สำหรับบาสเกตบอลชายเริ่มแข่งปี พ.ศ. 2493 ที่ประเทศอาร์เจนตินา ส่วนประเภทหญิงเริ่มแข่งสามปีถัดมาในประเทศชิลี กีฬาบาสเกตบอลหญิงเริ่มแข่งในโอลิมปิกปี พ.ศ. 2519 โดยมีทีมที่โดดเด่นเช่น บราซิล ออสเตรเลีย และ สหรัฐอเมริกา
        ฟีบา ยกเลิกการแบ่งผู้เล่นเป็นสมัครเล่นและอาชีพเมื่อ พ.ศ. 2532 และปี พ.ศ. 2535 ผู้เล่นอาชีพก็ได้แข่งในกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งแรก ความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกากลับมาอีกครั้งโดยการส่งดรีมทีม ที่ประกอบด้วยผู้เล่นจากเอ็นบีเอ แต่ปัจจุบันประเทศอื่นสามารถพัฒนาตามทันสหรัฐอเมริกา ทีมที่มีผู้เล่นเอ็นบีเอล้วน ๆ ได้ที่หกในการแข่งเวิลด์แชมเปียนชิปส์ในปี พ.ศ. 2545 ที่เมืองอินดีอานาโปลิส ตามหลัง เซอร์เบียและมอนเตเนโกร อาร์เจนตินา เยอรมนี นิวซีแลนด์ และ สเปน ในโอลิมปิกปี พ.ศ. 2547 สหรัฐแพ้เป็นครั้งแรกนับจากที่เริ่มใช้ผู้เล่นอาชีพ โดยพ่ายให้กับทีมชาติเปอร์โตริโก และสุดท้ายได้เป็นอันดับสาม รองจากอาร์เจนตินา และอิตาลี
        ปัจจุบัน มีการแข่งขันทัวร์นาเมนต์บาสเกตบอลทั่วโลกในทุกระดับอายุ ตั้งแต่ห้าจนถึงหกสิบปี ระดับไฮสกูล (มัธยมปลาย) มหาวิทยาลัย ไปจนถึงระดับลีกอาชีพ และมีแข่งทั้งประเภทชายและหญิง
        ความนิยมกีฬาชนิดนี้ทั่วโลกสังเกตได้จากสัญชาติของผู้เล่นในเอ็นบีเอ จะสามารถพบนักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลก สตีฟ แนช (Steve Nash) ผู้ที่ได้รับรางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าในเอ็นบีเอปี พ.ศ. 2548 เป็นชาวแคนาดาที่เกิดที่ประเทศแอฟริกาใต้ ดาราดังของทีมดัลลัส แมฟเวอริกส์ เดิร์ก โนวิตสกี (Dirk Nowitzki) ก็เกิดในประเทศเยอรมนีและเล่นให้กับทีมชาติเยอรมนี
        อีกตัวอย่างซึ่งแสดงให้เห็นการพัฒนาถึงระดับโลก คือทีมออลทัวร์นาเมนต์ ซึ่งประกอบด้วยผู้เล่นยอดเยี่ยมจากการแข่งเวิลด์แชมเปียนชิปส์ปี พ.ศ. 2545 ได้แก่ เดิร์ก โนวิตสกี, เพยา สโตยาโควิช (Peja Stojakovic) จากเซอร์เบียและมอนเตเนโกร, มานู จิโนบิลี (Manu Ginobili) จากอาร์เจนตินา, เหยา หมิง (Yao Ming) จากจีน และ เพโร คาเมรอน (Pero Cameron) จากนิวซีแลนด์ ทุกคนยกเว้นคาเมรอนเป็นหรือจะเป็นผู้เล่นในเอ็นบีเอในเวลาต่อมา


 ประวัติบาสเกตบอลในประเทศไทย

        กีฬาบาสเกตบอลแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในสมัยใด ปีใดนั้น มิได้มีหลักฐานที่จะปรากฏยืนยันแน่ชัดได้ ทราบแต่เพียงว่า ในปี พ.ศ.2477 นายนพคุณ พงษ์สุวรรณ อาจารย์สอนภาษาจีนที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุข ได้ช่วยเหลือกรมพลศึกษาจัดแปลกติกาการเล่นบาสเกตบอลขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 กระทรวงธรรมการ ได้จัดการอบรมครูจังหวัดต่างๆจำนวน 100 คน ภายในระยะเวลา 1 เดือน และได้รับความช่วยเหลือจาก พ.ต.อ. หลวงชาติตระการโกศล ผู้ซึ่งมีความรู้และเชี่ยวชาญทางการเล่นกีฬาบาสเกตบอลคนหนึ่ง ทั้งได้เคยเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการแข่งขัน เมื่อครั้งท่านกำลังศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา มาเป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับเทคนิคและวิธีเล่นบาสเกตบอลแก่บรรดาครูที่เข้ารับการอบรม ต่อมาก็เป็นผลทำให้กีฬาบาสเกตบอลแพร่หลายไปทั่วประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2496 สมาคมบาสเกตบอลสมัครเล่นแห่งประเทศไทยได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามแบบอันถูกต้อง โดยจดทะเบียนที่สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และได้กลายมาเป็นสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทยในปีเดียวกันนั้นเอง และในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 สมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมบาสเกตบอลระหว่างประเทศ

 กฎและกติกา

        กฎเกี่ยวกับขนาดและเวลาที่ใช้แข่ง อาจแตกต่างกันขึ้นกับทัวร์นาเมนต์หรือองค์กรที่จัดการแข่งขัน รายละเอียดในส่วนนี้จะใช้ของสากลและเอ็นบีเอเป็นหลัก
        จุดมุ่งหมายของเกมคือ การทำคะแนนให้ได้มากกว่าคู่แข่งโดยการโยนลูกเข้าห่วงของคู่ต่อสู้จากด้านบน ในขณะที่ป้องกันไม่ให้คู่ต่อสู่โยนลูกลงห่วงของฝ่ายตน การโยนลูกในลักษณะนี้เรียกว่าการชู้ต (หรือช็อต shot) การชู้ตที่เข้าห่วงจะได้สองคะแนน แต่ถ้าผู้ชู้ตอยู่เลยเส้นสามคะแนนออกไปในขณะชู้ตลูกก็จะได้สามคะแนน เส้นสามคะแนนจะอยู่ห่างจากห่วงเป็นระยะ 6.25 เมตร (20 ฟุต 5 นิ้ว) ในกติกาสากล และ 23 ฟุต 9 นิ้ว (7.24 เมตร) ในกติกาเอ็นบีเอ การชู้ตลูกโทษหรือที่เรียกว่า ฟรีโทรว์ (free throw) เมื่อฟาล์วมีค่าหนึ่งคะแนน

    กติกาการเล่น

        เกมจะแบ่งการเล่นเป็น 4 ควาเตอร์ (quarter) แต่ละควาเตอร์มี 10 นาที (สากล) หรือ 12 นาที (เอ็นบีเอ) ช่วงพักครึ่งนาน 15 นาที ส่วนพักอื่นๆ ยาว 2 นาที ช่วงต่อเวลา (overtime) ยาว 5 นาที ทีมจะสลับด้านสนามเมื่อเริ่มครึ่งหลัง เวลาจะเดินเฉพาะระหว่างที่เล่น และนาฬิกาจะหยุดเดินเมื่อเกมหยุด เช่น เมื่อเกิดการฟาล์ว หรือระหว่างการชู้ตลูกโทษ เป็นต้น ดังนั้นเวลาทั้งหมดที่ใช้แข่งมักยาวกว่านี้มาก (ประมาณสองชั่วโมง)
ภาพ:ผังสนามบาส.png

ผังสนามบาสเกตบอลตามกฎของฟีบา


        ในขณะใดขณะหนึ่งจะมีผู้เล่นในสนามฝ่ายละห้าคน และจะมีผู้เล่นสำรองสูงสุดทีมละเจ็ดคน สามารถเปลี่ยนตัวได้ไม่จำกัดและเปลี่ยนได้เฉพาะเมื่อเกมหยุด ทีมยังมีโค้ชที่ดูแลทีมและวางกลยุทธ์ในการเล่น รวมถึงผู้ช่วยโค้ช ผู้จัดการทีม นักสถิติ แพทย์ และเทรนเนอร์
        เครื่องแบบนักกีฬาสำหรับทีมชายและหญิงตามมาตรฐานได้แก่ กางเกงขาสั้นและเสื้อกล้ามที่มีหมายเลขผู้เล่นชัดเจนพิมพ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รองเท้าเป็นรองเท้ากีฬาหุ้มข้อเท้า อาจมีชื่อทีม ชื่อนักกีฬา และสปอนเซอร์ ปรากฏบนชุดด้วยก็ได้
        แต่ละทีมจะได้เวลานอกจำนวนหนึ่งสำหรับให้โค้ชและผู้เล่นปรึกษากัน มักยาวไม่เกินหนึ่งนาที ยกเว้นเมื่อต้องการโฆษณาระหว่างการถ่ายทอดสด
        เกมควบคุมโดยกรรมการและหัวหน้ากรรมการผู้ตัดสินในสนาม และกรรมการโต๊ะ กรรมการโต๊ะมีหน้าที่บันทึกคะแนน ควบคุมเวลา บันทึกจำนวนฟาล์วผู้เล่นและฟาล์วทีม ดูเรื่องการเปลี่ยนตัว โพเซสซันแอร์โรว์ และช็อตคล็อก


    อุปกรณ์การเล่น

ภาพ: Basketball-magnetxpress.jpg

ลูกบาสเกตบอล


        อุปกรณ์ที่จำเป็นจริง ๆ ในกีฬาบาสเกตบอลมีเพียงลูกบอลและสนามที่มีห่วงติดอยู่ที่ปลายทั้งสองด้าน การเล่นในระดับแข่งขันต้องใช้อุปกรณ์อื่น เช่น นาฬิกา กระดาษบันทึกคะแนน สกอร์บอร์ด โพเซสซันแอร์โรว์ ระบบหยุดนาฬิกาด้วยนกหวีด เป็นต้น
        ลูกบาสเกตบอลชายมีเส้นรอบวงประมาณ 30 นิ้ว (76 เซนติเมตร) และหนักประมาณ 1 ปอนด์ 5 ออนส์ (ุ600 กรัม) ลูกบาสเกตบอลหญิงมีเส้นรอบวงประมาณ 29 นิ้ว (73 ซม.) และหนักประมาณ 1 ปอนด์ 3 ออนส์ (540 กรัม) สนามบาสเกตบอลมาตรฐานในเกมสากลมีขนาด 28 คูณ 15 เมตร (ประมาณ 92 คูณ 49 ฟุต) ส่วนในเอ็นบีเอมีขนาด 94 คูณ 50 ฟุต (29 คูณ 15 เมตร) พื้นสนามส่วนใหญ่ทำด้วยไม้
        ห่วงที่ทำจากเหล็กหล่อ พร้อมทั้งเน็ต และแป้น ติดอยู่ที่ปลายทั้งสองด้านของสนาม ในการแข่งขันเกือนทุกระดับ ขอบห่วงด้านบนอยู่สูงจากพื้น 10 ฟุต (3.05 เมตร) พอดีและถัดเข้ามาจากเส้นหลัง 4 ฟุต (1.2 เมตร) ถึงแม้ว่าขนาดของสนามและแป้นอาจแตกต่างกันออกไป แต่ความสูงของห่วงถือว่าสำคัญมาก ถึงตำแหน่งจะคลาดเคลื่อนไปไม่เพียงกี่นิ้วก็มีผลต่อการชู้ตอย่างมาก


    ข้อบังคับ

        ลูกสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเข้าหาห่วงโดยการชู้ต การส่งระหว่างผู้เล่น การขว้าง การเคาะลูก การกลิ้งลูก หรือ การเลี้ยงลูก (โดยการให้ลูกกระเด้งกับพื้นขณะวิ่ง ภาษาอังกฤษเรียก ดริบบลิง, dribbling)
        ลูกจะต้องอยู่ในสนาม ทีมสุดท้ายที่สัมผัสลูกก่อนที่ลูกจะออกนอกสนามจะสูญเสียการครองบอล ผู้เล่นห้ามขยับขาทั้งสองพร้อมกันในขณะเลี้ยงลูก (เรียกว่า แทรเวลลิง, travelling) เลี้ยงลูกพร้อมกันทั้งสองมือ หรือเลื้ยงลูกแล้วจับลูกแล้วเลี้ยงลูกต่อ (เรียกว่า ดับเบิล-ดริบบลิง, double-dribbling) เวลาเลี้ยงมือของผู้เล่นต้องอยู่ด้านบนของลูก มิฉะนั้นจะนับว่า ถือลูก (carrying) ถ้าทีมพาลูกไปยังแดนของฝ่ายตรงข้ามของสนาม (frontcourt) แล้ว ห้ามนำลูกกลับเข้าแดนตนเอง (backcourt) อีก ห้ามเตะหรือชกลูก ถ้าทำผิดกฎข้อห้ามเหล่านี้จะเสียการครองบอล อีกฝ่ายจะเป็นฝ่ายได้ลูกไปเล่น แต่ถ้าฝ่ายรับทำผิดกฎฝ่ายที่ครองบอลจะได้เริ่มช็อตคล็อกใหม่
        ผู้เล่นจะต้องนำลูกจากแดนตัวเองข้ามเข้าแดนตรงข้ามภายในเวลาที่กำหนด (8 วินาทีทั้งในกติกาสากลและเอ็นบีเอ) ต้องชู้ตภายในเวลา 24 วินาที ถือลูกขณะที่ถูกยืนคุมโดยฝ่ายตรงข้ามไม่เกิน 5 วินาที อยู่ในบริเวณใต้แป้นไม่เกิน 3 วินาที กฎเหล่านี้มีไว้เป็นรางวัลแก่การตั้งรับที่ดี
        ห้ามผู้เล่นรบกวนห่วง หรือ ลูกขณะเคลื่อนที่คล้อยลงมายังห่วง หรือ ขณะอยู่บนห่วง (ในเอ็นบีเอ ยังรวมกรณีลูกอยู่เหนือห่วงพอดี) การฝ่าฝืนข้อห้ามนี้เรียก โกลเทนดิง (goaltending) ถ้าฝ่ายรับทำผิด จะถือว่าการชู้ตสำเร็จและอีกฝ่ายได้คะแนน แต่ถ้าฝ่ายรุกทำผิด จะไม่คิดคะแนนการชู้ตนี้ และเสียการครองบอล


     ฟาล์ว

        การเล่นที่กระทบกระทั่งผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามให้อีกฝ่ายเสียเปรียบและไม่เป็นธรรม ถือเป็นข้อห้ามที่ถ้าฝ่าฝืนจะนับเป็น ฟาล์ว (foul) ผู้เล่นตั้งรับมักจะเป็นคนทำฟาล์วแต่ผู้เล่นฝ่ายรุกก็สามารถทำฟาล์วได้เช่นเดียวกัน คนที่ถูกฟาล์วจะได้ส่งลูกจากข้างสนาม (inbound) เพื่อเล่นต่อ หรือได้ชู้ตลูกโทษ หรือ ฟรีโทร (free throw) ถ้าการฟาล์วเกิดขึ้นขณะกำลังชู้ตลูก การชู้ตลูกโทษลงห่วงครั้งหนึ่งจะได้หนึ่งคะแนน ผู้เล่นจะได้ชู้ตลูกโทษหนึ่งกี่ครั้งขึ้นกับว่าลูกที่ผู้เล่นชู้ตตอนถูกฟาล์วนั้นได้แต้มหรือไม่ เวลาชู้ตลูกโทษผู้เล่นต้องยืนหลังเส้นลูกโทษซึ่งห่างจากห่วง 4.5 เมตร (15 ฟุต)
        การที่จะมีฟาล์วหรือไม่อยู่วิจารณญาณของกรรมการผู้ตัดสิน ว่าผู้เล่นเกิดการได้เปรียบในการเล่นอย่างขาวสะอาดหรือไม่ ทำให้บางครั้งมีความเห็นขัดแย้งกับการเรียกฟาล์วของกรรมการ การกระทบกระทั่งในกีฬาบาสเกตบอลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการเรียกฟาล์วอาจแตกต่างกันในแต่ละเกม ลีก หรือแม้กระทั่งกรรมการตัดสินแต่ละคน
ผู้เล่นหรือโค้ชซึ่งแสดงน้ำใจนักกีฬาที่แย่ เช่น เถียงกับกรรมการ หรือ ชกกับผู้เล่นอื่น อาจโดนเทคนิคัลฟาล์ว หรือ ฟาล์วเทคนิค (technical foul) ซึ่งถูกลงโทษโดยให้อีกทีมได้ชู้ตลูกโทษ (รายละเอียดขึ้นอยู่กับลีก) ถ้าเกิดเหตุการณ์ซ้ำก็อาจถูกไล่ออกจากสนามได้ ฟาล์วที่เกิดจากการเล่นที่รุนแรงเกินไป จะเรียกว่าฟาล์วขาดน้ำใจนักกีฬา หรือ ฟาล์วรุนแรง (unsportsmanlike foul ในสากลหรือ flagrant foul ในเอ็นบีเอ) ก็จะได้รับโทษที่สูงขึ้นกว่าฟาล์วธรรมดา บางครั้งอาจถูกให้ออกจากสนามด้วย
        ถ้าทีมทำฟาล์วเกินกว่าที่กำหนด (ในหนึ่งควาเตอร์ หรือ ในครึ่งเกม) ซึ่งก็คือ สี่ครั้งสำหรับกติกาสากลและเอ็นบีเอ ทีมตรงข้ามสามารถชู้ตลูกโทษสำหรับฟาล์วที่เกิดขึ้นครั้งต่อ ๆ ไปจากนั้นจนกว่าจะจบช่วง ไม่ว่าการฟาล์วจะเกิดขึ้นขณะกำลังชู้ตลูกหรือไม่ (รายละเอียดขึ้นอยู่กับลีก) ถ้าผู้เล่นฟาล์วรวมห้าครั้งนับเทคนิคัลฟาล์วด้วย (บางลีก รวมถือเอ็นบีเอ ยอมให้ฟาล์วได้หกครั้ง) ผู้เล่นนั้นไม่สามารถเล่นในเกมได้อีก เรียกว่าฟาล์วเอาท์ (foul out)